วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

2 ธนาคารใหญ่ กรุงเทพ และไทยพาณิชย์ ลงนามสนับสนุนทางการเงิน
 วงเงิน 8,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด

27 กรกฎาคม 2558

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากซ้าย) และ
นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากขวา) ร่วมลงนามกับนายฉิน หลง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิงเต่า เซนจูรี่ ไทร์ (จำกัด) (ที่ 3 จากขวา) และ ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (ที่ 3 จากซ้าย) ในสัญญาสนับสนุนวงเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) มูลค่า 8,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากประเทศจีน ชิงเต่า เซนจูรี่ ไทร์ (Qingdao Sentury Tire) ในการลงทุน
ตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ ขนาดกำลังการผลิต 10 ล้านเส้นต่อปี ที่จังหวัดระยอง โดยมีนายคณิต สีห์ ผู้ช่วย
ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) และนายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร
สูงสุด Client Acquisition ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (ขวา) ร่วมในพิธี สำหรับ เซนจูรี่ ไทร์ เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดในการผลิตยางรถยนต์เพื่อผลิตยางรถยนต์คุณภาพสูงและมีเทคโนโลยีที่พร้อม
ถึงขั้นผลิตล้อยางเครื่องบิน นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากจีน รายที่ 3 ที่เข้ามาลงทุนขยายการผลิตที่ประเทศไทย
ธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิ 6 เดือนแรกปี 2558 จำนวน 17,442 ล้านบาท

21 กรกฎาคม 2558

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกปี 2558 จำนวน 17,442 ล้านบาท ลดลง 552 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปี 2557 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1,576 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 4,181 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,587 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8

ในครึ่งแรกปี 2558 ความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกของไทย ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุนใหม่ออกไปเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น แม้จะมีการเร่งตัวของการลงทุนภาครัฐและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการ
ท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวเล็กน้อยจากปี 2557 โดยเพิ่มขึ้น 7,383 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 เป็น 1,789,616 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558

ด้านคุณภาพเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 55,126 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและ
ต่อเนื่อง อีกทั้งธนาคารมีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูงซึ่งจะช่วยรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้

สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ธนาคารมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,901 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 170.4 และมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่ร้อยละ 5.2

ด้านสภาพคล่อง ธนาคารยังคงเน้นการบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของลูกค้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารมีเงินฝากจำนวน 2,128,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 จากสิ้นปี 2557 ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากลดลงจากร้อยละ 86.6 ณ สิ้นปี 2557 เป็นร้อยละ 84.1 ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2558

ในครึ่งแรกปี 2558 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 27,452 ล้านบาท และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ
อยู่ที่ร้อยละ 2.08 ลดลงจากร้อยละ 2.37 ในครึ่งหลังปี 2557 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนและปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนสินเชื่อและปริมาณสินเชื่อ

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในครึ่งแรกปี 2558 มีจำนวน 22,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,181 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 2,485 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,331 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 ซึ่งส่วนมากเพิ่มขึ้นจาก
ค่าธรรมเนียมจากการรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารทางการเงิน ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจำหน่ายและจัดการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2558 จำนวน 21,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,587 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปี 2557 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ธนาคารมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่
ร้อยละ 44.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43.4 ในครึ่งแรกปี 2557

ด้านเงินกองทุน หากนับรวมกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.5 ร้อยละ 16.4 และร้อยละ 16.4 ตามลำดับ

ส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 มีจำนวน 349,823 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.2 ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 183.27 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 13.80 บาท จากสิ้นปี 2557
ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับสถานทูตจีน จัดสัมมนา The Chinese Link Forum หัวข้อ
"The Age of the Redback – How to Save Millions by RMB Settlement"

20 กรกฎาคม 2558

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่ 5 จากขวา) นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ (ที่ 2 จากขวา) นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ (ขวา) นายคณิต สีห์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
(ที่ 2 จากซ้าย) และนายกนกศักดิ์ โมกขมรรคกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ซ้าย) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (กลาง) ร่วมให้การต้อนรับ ดร.ติงจื้อเจี๋ย นักเศรษฐศาสตร์ ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ช่วยอธิการบดีและรองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตศึกษา University of International Business and Economics (ที่ 3 จากขวา) ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในงานสัมมนา The Chinese Link Forum ในหัวข้อ "The Age of the Redback – How to Save Millions by RMB Settlement" ที่ทางธนาคารกรุงเทพและสถาน
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับ
กลุ่มนักธุรกิจไทยและจีนเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ต่อเนื่องปีที่ 10 
เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อสื่อมวลชน

14 กรกฎาคม 2558

นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร (ที่ 2 จากซ้าย) และนายอภิวัฒน์ ปุณโณปกรณ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ (ซ้าย) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มอบเงินสนับสนุนจำนวน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาท) แก่นายธิวา สุดใจ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ (ที่ 2 จากขวา) และคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2558 โดยมีหม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานและเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมการฟื้นตัว และแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย” ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจสร้างสรรค์โครงการดังกล่าวและให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารไปสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับเออีซี ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจและมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม
ธนาคารกรุงเทพ จัดงานสัมมนา Trade Expert Forum 2015 "Update 
เศรษฐกิจไทยมองไกลเศรษฐกิจโลก"

13 กรกฎาคม 2558

นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 3 จากขวา) นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
(ที่ 3 จากซ้าย) นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 2 จากขวา) นายขจรศักดิ์ มานะวิริยะกุล ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการธุรกิจส่งออกและนำเข้า (ที่ 2 จากซ้าย) และผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง (ที่ 4 จากขวา) และนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ที่ 4 จากซ้าย) เนื่องในโอกาสร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Trade Expert Forum 2015 เรื่อง "Update เศรษฐกิจไทย มองไกลเศรษฐกิจโลก" ที่ธนาคารจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าผู้ประกอบการทั้ง SME และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้บริการด้านการค้าต่างประเทศของธนาคาร ได้รับทราบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยไปจนถึงเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำอย่างเด่นชัดในด้านบริการการค้าต่างประเทศของธนาคาร โดยเน้นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็น Expert Partner หรือเพื่อนคู่คิด ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อันยาวนานที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธนาคารกรุงเทพ ได้รับยกย่องจาก Timetric เอเชีย ในฐานะธนาคารยอดเยี่ยมด้าน
การพัฒนาเทคโนโลยี – โมบายแบงก์กิ้ง
7 กรกฎาคม 2558

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 3 จากขวา) พร้อมคณะผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รับมอบรางวัล "ธนาคารยอดเยี่ยมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี – โมบายแบงก์กิ้ง" (Best Technology Implementation - Front End) จาก มร.รูเบน เคมพิเนีย ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ซ้าย) Timetric บริษัทชั้นนำด้านผู้ให้บริการข้อมูลออนไลน์ บทวิเคราะห์และคําปรึกษาด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการตลาด ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ในการมอบรางวัล The Customer Experience in Financial Services (CXFS) Asia Awards 2015 นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของบริการ "บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง" ธนาคารทางโทรศัพท์มือถือที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการให้บริการที่มอบความสะดวกสบายและความคล่องตัวแก่ลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ทั้งการตรวจสอบยอดเงินในบัญชีรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการซื้อและขายกองทุนรวม โดยเน้นความง่ายในการใช้งานและมีเมนูไม่ซับซ้อน ทำให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย
ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนสินเชื่อ "ซุปเปอร์บล๊อก" พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

3 กรกฎาคม 2558

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่ 3 จากขวา) นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ (ที่ 2 จากขวา) และนางณัฐพร เหลืองสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ขวา) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงนามร่วมกับ นายจอมทรัพย์ โลจายะ กรรมการบริหาร (ที่ 3 จากซ้าย) กลุ่มบริษัทซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) ในสัญญาสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม 6,781 ล้านบาท สำหรับใช้ดำเนินโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนทั้งสิ้น 22 โครงการ กำลังการผลิตรวม 140 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมด โดยโครงการจะตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี สระบุรี พิจิตร ลพบุรี มหาสารคาม พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา และหนองบัวลำภู